skip to main |
skip to sidebar

เวิ้งว้าง กลางหุบเขา ฉันไร้เงา
หมอกบาง เมฆเบา ลมพัดหวน
ใจหนอ จิตหนา กระแสทวน
สรรพล้วน หลีกมิพ้น วังวัฏฏะ
ฉันรู้ ฉันเห็น ฉันสัมผัส
หากยัง ยากหนัก ละปรารถนา
รู้ทุกข์ รู้โลก รู้อนัตตา
ทว่า อีกกี่รอบ วิญญาเล่า จึ่งพานพบ
หมายมุ่ง ปลายฟ้า มาบรรจบ
ละภพ ละเขตหล้า ละสังสาร
ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ใช่วันวาร
อนันตกาล นำฉัน สู่ว้างเวิ้ง
..............
เขียนโดย แม่ส้ม - อมร อมรรัตนเสรีกุล ในปี 2543
.................พูดถึงผีเสื้อ นอกจากจะนึกถึง"ความฝันของผีเสื้อ"ของจวงจื้อ ซึ่งทำให้เกิดประโยค"ชีวิตคล้ายดั่งความฝัน"อันลื่อลั่นแล้ว เรายังนึกถึงบทกวีของเรียวกัน(อาจารย์เซน)บทหนึ่ง ชื่อ "หยดน้ำค้างบนใบบัว" ชอบท่อนสั้นๆ ที่แปลไว้ท่อนนี้........ดอกไม้ไม่ได้เชื้อเชิญผีเสื้อ อีกทั้งผีเสื้อก็ไม่ได้ถวิลหาดอกไม้ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ดอกไม้บาน..ผีเสื้อปรากฏการณ์จึงเป็นไปเช่นนั้น...........รูปปีกผีเสื้อใบไม้แห้ง ทำไว้เมื่อ เมษายน ๔๗
Sor Juana Inés de la Cruz de Asbaje y Ramírez (1651-1695)...สงัดค่ำนิทรายามสุบินไปในความฝันปรารถนาเข้าใจทุกสิ่งสรรพใดก่อกำเนิดภพใดประกอบจักรวาลทว่าข้ามิอาจมิสามารถเข้าใจได้จับจักรวาลแยกเป็นส่วนก็มิได้แม้นจะเข้าใจเอกภวก็มิอาจ
ผิดหวังสิ้นดีอรุณปลุกข้าตื่นเทพดาไม่เป็นใจแสงตะวันหยามข้าสู่อมตะแห่งซากนิรันดร์
The First dream of Sor Juana
ครูส้ม แปล
๒๓ มกราคม ๒๕๔๖
.....................................
........ความเบิกบาน
มิใช่ภาวะที่เกิดขึ้นได้โดยพยายาม
ทั้งเจตนาให้เกิดก็ไม่ได้เช่นกัน
จิตที่เบิกบาน เป็นไป เพราะเป็นไป
เป็นไป เพราะไร้แรงผลัก
เป็นไป เพราะจิตเปิดสู่ความเป็นเช่นนั้นเอง
อย่าได้ฝืน อย่าได้ดึง อย่าพยายาม
ไม่มีอะไรต้องทำ ไม่มีอะไรไม่ต้องทำ
สิ่งซึ่งปรากฏขึ้นในทุกขณะจิต
ไร้ความสำคัญโดยสิ้นเชิง
ไร้ความจริงใด ๆ ทั้งสิ้น
ใยเล่าจักต้องใส่ใจหาความหมาย
ใยไปติดยึดกับสิ่งเหล่านั้น
ใยต้องไปตัดสินเขา ตัดสินเรา
จงทำตัวสบาย ๆ
มองดูปรากฏการณ์อย่างเป็นเช่นนั้น
บัดเดี๋ยวก็โผขึ้นสู่เบื้องบน
บัดเดี๋ยวกลับยุบลงเบื้องล่าง
ขึ้นแล้วก็ลง เหมือนรอบคลื่น
ไม่พยายามจัดการให้ได้ดังใจ
ไม่พยายามเปลี่ยนการณ์ที่ปรากฏ
เพียงเฝ้าสังเกตความลี้ลับ
อัศจรรย์ใจไปกับการก่อเกิด
มหัศจรรย์ใจไปกับการดับสูญ
รอบแล้วรอบเล่า
ก่อเกิดแล้วดับสูญ
เพราะเราพยายามแสวงหาความสุข
เหตุฉะนี้ เราจึงไม่เคยพานพบ
เปรียบดั่งสายรุ้งเจิดจำรัส
เอื้อมมือคว้า แต่ไม่เคยได้สัมผัส
เหมือนเจ้าหมาน้อย วิ่งวนไล่งับหางตัวเอง
แม้ว่าสันติและเบิกบาน
จะมิได้ดำรงให้เห็นเช่นรูปธรรม
ทว่า สันติและเบิกบาน
ดำรงอยู่ และดำเนินไป
เคียงคู่ขณะแห่งชีวิตเสมอ
อย่าได้หลงประสบการณ์
ดี-เลว บุญ-บาป คุณ-โทษ
เหล่านั้นเปรียบดั่งอากาศที่ไม่เคยไม่ผันผวน
เหล่านั้นเปรียบดั่งรุ้งล่องหน ทอดงามอยู่ปลายฟ้า
ปรารถนาไขว่คว้าสิ่งคว้าไม่ได้
เหนื่อยล้าตัวตนไปใย
เปิดใจและผ่อนคลายเสียแต่บัดนี้
ความว่างพลันปรากฏ
จงเปิดประตูไว้ เชื้อเชิญ และอำนวยสะดวก
จงผ่อนคลายกับความว่างอันไพศาล
จงสำราญกับธรรมชาติแห่งเสรี
ไม่ถามหาอนาคต
ไม่รีบรุดสู่ป่าอลหม่าน
จงมองดูเจ้าช้างใหญ่ผู้ตื่นแล้ว
ช้างใหญ่ผู้ตื่น แต่ผ่อนพัก
จงสงบอย่างตื่น
พำนักสบาย ๆ อยู่ในหทัยสถาน
ไม่มีอะไรต้องทำ
ไม่มีอะไรไม่ต้องทำ
ไม่มีอะไรต้องฝืน
ไม่มีอะไรต้องปรารถนา
อา..ช่างน่าพิศวง
อะไร อะไร ก็เคลื่อนไปอย่างนั้นเอง
สรรพสิ่งล้วนเป็นเองเช่นนั้น"เสรี และ เรียบง่าย บทเพลงแห่งความเป็นเช่นนั้นเอง"
ลามะ เก็นดุน รินโปเช
ครูส้ม แปล
๒๕๔๖
ผลไม้แห่งความเงียบ คือ ภาวนา
ผลไม้แห่งภาวนา คือ ศรัทธา
ผลไม้แห่งศรัทธา คือ ความรัก
ผลไม้แห่งความรัก คือ เกื้อกูล
ผลไม้แห่งความเกื้อกูล คือ สันติ ......บทภาวนาโดย แม่ชีเทเรซ่า
ครูส้ม แปล
๒๕๔๕........................
วันนี้แปล"ปิติ ๗" ของท่านจัลวา โกตซังปะ ซึ่งเป็นลามะทิเบตที่มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ.๑๗๓๒-๑๘๐๑ มาให้อ่าน
..........
ขอบูชาคุรุ ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐ
๑.
เมื่อความคิดเกิด ผู้รับรู้เกิด จิตฉันเขวไป
ฉันจะไม่ปิดประตูอายตนะ
ไม่ภาวนาเพื่อหลีกเร้น
จะโจนไปกลางแก่น
ความคิดก็เหมือนก้อนเมฆ**
ยามใดที่ความคิดปรากฏขึ้น
ฉันจะใช้การรับรู้นั้น เหสู่ปิติ
๒.
เมื่อฉันถูกเพลิงกิเลสเผาไหม้
ฉันจะไม่พยายามดับเปลว เพื่อลวงว่ามันไม่ร้อน
เหมือนพยายามแปรโลหะให้กลายเป็นทอง
เบื้องหลังกำนัลในเพลิงกิเลส
คือพรพิสุทธิ์ ที่ไม่ด่างพร้อย**
ยามใดที่เพลิงกิเลสลุกโหมขึ้นมา
ฉันจะใช้ความร้อนนั้น เป็นพลังเหสู่ปิติ
๓.
เมื่อฉันถูกครอบงำด้วยอกุศลจิต
ฉันจะไม่ขับไล่เขาด้วยมนตร์คาถา
สิ่งที่ฉันจะทำคือไล่กวดอัตตาตัวเอง
แปรปรับสู่สัมมาทิฐิ
เมื่อวิบากเกิด ฉันจะใช้อุปสรรคนั้น
เป็นหนทางหักเหสู่ปิติ
๔.
เมื่อถึงเวลารับทุกข์ในกรรมที่ฉันก่อ
ฉันจะไม่เกลือกกลิ้งกับเวทนาจนชวนสังเวช
ฉันจะวางกองหนักนั้น เพื่อเดินทางตามหมาย**
ฉันจะประคองตัวด้วยกรุณา เพื่อทุกข์ของผู้อื่น
เมื่อผลกรรมตามทัน
ฉันจะใช้ผลกรรมนั้น เป็นทางเหสู่ปิติ
๕.
ยามใดที่ร่างกายพ่ายต่อโรคา
ยาไม่ได้บรรเทาถึงรากเหตุ
ฉันจะขจัดความคลุมเครือ เพื่อค้นหาต้นเหตุที่แท้ **
และใช้ความป่วยไข้บำรุงปัญญา
เมื่อความเจ็บป่วยดาหน้ามาหา
ฉันจะใช้ทุกข์นั้น เป็นทางเหสู่ปิติ
๖.
เมื่อถึงกาลต้องละร่าง ละความผูกพันอันเป็นมายา
ไม่ต้องกังวล ห่วงใย หรือเศร้าไป
ฉันจะชำระและควบคุมตนสู่ความตาย
เหมือนทารกกลับคืนสู่อ้อมอกมารดาแห่งแสงกระจ่าง
เมื่อจิตละร่าง คือช่วงเวลาแห่งความปิติ
๗.
เมื่อสรรพสิ่งไม่เป็นไปตามหมาย
ความไม่พอใจพุ่งเข้ามาใส่
ฉันจะไม่พยายามก่อความเปลี่ยนแปลงใด
นี่คือโอกาสที่จะได้ย้อนมองดูการฝึกตน
ยิ่งไม่ชอบเท่าไร ยิ่งอึดอัดขัดขวางเท่าไร
ยิ่งได้เห็นหนทางการฝึกฝน
เหตุปัจจัยอันไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย
ล้วนคือเสียงเพลงนำสู่ปิติ
........
"ปิติ ๗" บทเพลงของท่านกยัลวา โกตซังปะ
ครูส้ม แปล
๕ สิงหาคม ๒๕๔๖
** ก้อนเมฆ : คำสอนของทิเบต มักเปรียบความไม่คงที่ ความไม่แน่นอน ความไม่มีอยู่จริง เหมือนกับ ก้อนเมฆ สายรุ้ง แสงจันทร์ ความฝัน และเสียงก้องสะท้อน ฯลฯ
**ไม่ด่างพร้อย : คือจิตเดิมแท้
**เดินทางตามหมาย : เจตนาที่จะเดินไปในทางธรรม สู่พระนิพพาน
** คติทิเบตเชื่อว่าความเจ็บป่วยมีมูลเหตุมาจากโรคทางจิตวิญญาณ การรักษาด้วยยาเป็นเพียงการบรรเทาชั่วคราว ถ้าต้องการถอนรากของความเจ็บป่วยทั้งหลาย ต้องใช้ธรรมะรักษาจิตวิญญาณ
Namo Ratna Guru
1.When thoughts that there is something, perceived and a perceiver,Lure my mind away and distract,I don’t close my senses’ gateways to meditate without themBut plunge straight into their essential point.They’re like clouds in the sky; there’s this shimmer where they fly.Thoughts that rise, for me sheer delight!
2.When kleshas get me going, and their heat has got me burning,I try no antidote to set them right.Like an alchemistic potion turning metal into gold,What lies in klesha’s power to bestowIs bliss without contagion, completely undefiled.Kleshas coming up, sheer delight!
3.When I’m plagued by god-like forces or demonic interference,I do not drive them out with rites and spells.The thing to chase away is egoistic thinking,Built up on the idea of a self.This will turn the ranks of Maras into your own special forces.When obstacles arise, sheer delight!
4.When samsara with its anguish has me writhing in its torments,Instead of wallowing in misery,I take the greater burden down the greater path to travelAnd let compassion set me upTo take upon myself the sufferings of others.When karmic consequences bloom, delight!
5.When my body has succumbed to the attacks of painful illness,I do not count on medical relief,But take that very illness as a path and by its powerRemove the obscurations blocking me,And use it to encourage the qualities worthwhile.When illness rears its head, sheer delight!
6.When it’s time to leave this body, this illusionary tangle,Don’t cause yourself anxiety and grief.The thing that you should train in and clear up for yourself isThere’s no such thing as dying to be done.It’s just clear light, the mother, and child clear light uniting,When mind forsakes the body, sheer delight!
7.When the whole thing’s just not working, everything’s lined up against you,Don’t try to find some way to change it all.Here the point to make in your practice is reverse the way you see it.Don’t try to make it stop or to improve.Adverse conditions happen; when they do it’s so delightful.They make a little song of sheer delight !
Seven Delights : Gyalwa Götsangpa
.......................
...........
วันนี้แปลมนตราของพี่น้องอินเดียนเผ่าซูมาให้อ่าน
เป็นธรรมะ จากธรรมชาติ
..........
พ่อ และ ท้องฟ้า
สดับฟังข้า
ข้าจึงแกร่ง
แม่ และ แผ่นดิน
สดับฟังข้า
ข้าจึงมั่นคง
ดวงวิญญาณจากทิศตะวันออก
นำปัญญามาสู่ข้า
ดวงวิญญาณจากทิศใต้
ถางทางให้ข้าย่ำ
ดวงวิญญาณจากทิศเหนือ
ชำระข้าด้วยสายลมบริสุทธิ์
ดวงวิญญาณจากทิศตะวันตก
ปลุกข้าให้ตื่นพร้อม
หนทางยังอีกยาวไกล
..............
มนตราของอินเดียนเผ่าซู
ครูส้ม แปล
ธ.ค. ๒๕๔๕................
รูปนี้ วาดเมื่อปีกลาย วาดจากรูปปั้นพระศรีอริยเมตไตร หรือไมตรีโพธิสัตว (เมตตา เมตตี ไมตรี มิตตา มิตร รากเดียวกัน)
........คนว่าง ๆ คนหนึ่งเดินไปบนมรรคาแห่งเต๋าไม่สนใจปรัชญา ไม่แสวงหาสัจจะไม่ปิดฝัน ไม่กั้นสิ่งอัศจรรย์ใจความไม่รู้ทั้งหลาย แท้จริงคือพุทธะมายากายที่ว่างเปล่านั้นเล่า คือกายแท้แห่งธรรมะเมื่อธรรมกายาตื่น เมื่อนั้นทุกสิ่งปราศนาการสิ้นอีกธรรมชาติเดิมแท้ของเราก็ปริสุทฺธิ์กายจิตสัมพัทธ์ ล้วนก่อ แล้วจากดั่งเมฆหมอกบนฟ้า ที่เคลื่อนว่างรัก โลภ โกรธ หลง ปรากฏแล้วลับหายเหมือนฟองขาว บนม้วนคลื่นสมุทรมาแล้วไป ไปแล้วมาตระหนักรู้แจ้งเมื่อใดเมื่อนั้นสิ่งแยกกั้นกาย-จิต ย่อมสิ้นสูญทางแห่งทุกข์ จักมลายพลันหากถ้อยความนี้โป้ปด หรือลวงโลกโปรดจงพรากลิ้นฉันไป เสียเดี๋ยวนี้....(ยังมีต่อ)บทนี้ชื่อว่า "บทเพลงแห่งความรู้แจ้ง" หรือ "บทเพลงซาโตริฉับพลัน" แต่งโดย กวีและอาจารย์ในพุทธศาสนานิกายฌาน (เซนในภาษาจีน) สมัยราชวงศ์ถัง ชื่อ หยงเจีย ซวนจู้ ครูส้ม แปล ๙ ก.พ.๔๗
....................“ธรรมชาติสามัญ” กับ “ธรรมชาติเดิมแท้” ของสรรพสิ่งสัมพันธ์กันเหมือน “น้ำ” กับ “ความเปียก”เหมือน “เปลือกหอยสังข์สีขาว” กับ “ความขาว”เหมือน “เปลวไฟ” กับ “ความร้อน”เหมือน “การสร้าง” กับ “ความเสื่อม”น้ำและความเปียกชื้นนั้น มีชื่อและสภาวะต่างกันแต่ทั้งน้ำและความเปียก ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ความต่างของ ชื่อ และ สภาวะ คือ ธรรมชาติสามัญแต่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ ธรรมชาติเดิมแท้“วัตถุ” กับ “ความว่าง” ก็เช่นกันหากวัตถุธาตุมีธรรมชาติที่แตกต่างจากความว่างแล้วไซร้วัตถุย่อมคงความเป็นนิจจตาไม่เสื่อมสลายแต่เพราะธรรมชาติเดิมแท้ของวัตถุและความว่างนั้นเหมือนกันแม้จะขานเรียกคนละชื่อ หรือถูกมองว่าเป็นสองสิ่งแยกกันแต่ “วัตถุ” และ “ความว่าง” เป็นสองของความเป็นหนึ่งซึ่งไม่สามารถแยกขาดจากกันและกันได้..............ตอนหนึ่งจาก “หทัยสูตร” : ธรรมเทศนาของ ท่านเกเช โซนาม รินเช็นครูส้ม แปลพ.ย. ๒๕๔๖
......... จิตแต่ละขณะ ล้วนว่างเปล่าเมื่อใดที่ปราศจากผู้เฝ้าสังเกตการเห็นที่แท้ จึงถูกตระหนักสำหรับการฝึกในกระแสแห่งแสงกระจ่างไม่มีขั้น ไม่มีตอนให้ค้นพบยืนหยัดในวิริยะแห่งการฝึกตราบกระทั่งไร้ผู้ฝึก และไร้การฝึกในภูมิแห่งแสงกระจ่างไสวที่ซึ่ง นาม และ รูป รวมกันเป็นหนึ่งข้ามองไม่เห็นเหตุ ไม่เห็นปัจจัยทั้งหมดคือ ความว่างเมื่อผู้แสดง และการแสดงยุติการณ์ทั้งหมด จักกลายเป็นความถูกต้อง ข้อจำกัดทางความคิดทั้งหลายได้มลายไปในพระธรรมธาตุโลกธรรมทั้ง ๘ ไม่สามารถพัดทั้ง ความหวัง และ ความกลัว มาสู่เมื่อไม่มีคำสอน และไม่มีผู้เจริญตามคำสอนวินัยจึงเกิดขึ้นอย่างแท้จริงด้วยตระหนักรู้ว่าจิตตนนั้น คือ ธรรมกายาเป็นกายแท้แห่งพุทธะตั้งปณิธานแน่วแน่ ที่จะยังประโยชน์แก่สรรพสัตว์เมื่อข้อควรปฏิบัติ และผู้ปฏิบัติไม่ปรากฏแล้วธรรมะจึงบริสุทธิ์อย่างแท้จริง.............ธรรมคีตา หรือ ลำนำสอนธรรม ของ มิลาเรปะครูส้ม แปลเชียงราย ๒๕๔๖
*มิลาเรปะ (Milarepa) เป็นโยคีที่สำคัญในพุทธศาสนาสายวัชรยานของธิเบตมีชีวิตอยู่ในช่วง ศตวรรษที่ ๑๐
.........
ขี้คร้านเกินกว่าจะทะยานอยาก
ปล่อยให้โลกดูแลตัวมันเองดีกว่า
ฉันมีข้าวสารยังชีพไปสิบวัน
ทั้งยังมีมัดฟืนก่อไฟอุ่นอีกด้วย
ใยต้องมาถกกันให้เสียเวลา
ว่าอะไรคือ รู้ลวง อะไรคือ รู้แจ้ง
ฟังซิ..
เสียงน้ำฝนกลางดึกกระทบหลังคาบ้าน
ฉันนั่งเหยียดเท้าทั้งสองออกไป
แสนสบาย
............
"คนขี้คร้าน" ของ เรียวกัน
ครูส้ม แปล
๒๔ พ.ย.๔๕

เรียวกัน (Ryokan) อาจารย์เซน ชาวญี่ปุ่น มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. ๑๗๕๘-๑๘๓๑
.......สองตายล เชื่อหรือ มองเห็นสองหูยิน เป็นความ จริงไหมสองมือต้อง เชื่อได้ อย่างไรชิวหาลิ้ม ไว้ใจ ได้ฤๅเพียงดม มาลี หอมหวลกลิ่นยวน ก็หลง แล้วหรือผัสสะ อายตนะ ของเธอเชื่อได้ หรือไม่ คิดดูตาหู จมูกลิ้น กายใจปรุงใส่ ประสาท รับรู้รับแล้ว ยึดเป็น ของกูประตู อัตตา เปิดกว้างพินิจ สิ่งควร พินิจอาบจิต ธรรมสุข ไป่ว้างสะอาด สว่าง สงบ พบทางนิวรณ์ จางแจ้ง ตื่นรู้ พบตน......แต่งโดย ครูส้ม บางบัวทอง ๒๕๔๑